หากพูดถึงแบรนด์ “โตโยต้า” เชื่อว่าไม่มีใครไม่รู้จักอย่างแน่นอน และยังเชื่อด้วยว่าคุณผู้อ่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ จะต้องเคยคลุกคลีกับรถยนต์จากค่ายโตโยต้ามาไม่มากก็น้อย Sanook Auto จึงขอพาคุณผู้อ่านไปดื่มด่ำยิ่งขึ้นกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน กับ 3 พิพิธภัณฑ์โตโยต้าในประเทศญี่ปุ่น ที่คุณเองก็สามารถแวะไปเยี่ยมชมได้เช่นกัน
ตระการตากับรถหลากหลายยี่ห้อที่ Toyota Automobile Museum
ที่ตั้ง: 41-100 Yokomichi, Nagakute City, จังหวัดไอจิ 480-1118
เวลาเปิด-ปิด: ทุกวัน 9.30 – 17.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์ และวันหยุดนักขัดฤกษ์)
ค่าเข้าชม: บุคคลทั่วไป 1,200 เยน (มีส่วนลดสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ และนักเรียน)
เริ่มต้นกันที่พิพิธภัณฑ์แห่งแรกนั่นคือ “Toyota Automobile Museum” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับผู้ที่แวะมายังเมืองนาโกยา (Nagoya) เนื่องจากใช้เวลาเดินทางจากสถานีรถไฟนาโกยาประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น หรือหากขับรถมาเองก็จะใช้เวลาราวครึ่งชั่วโมง ก็มาถึงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้อย่างสะดวก
หากใครที่ชื่นชอบเรื่องราวของรถยนต์อยู่แล้วล่ะก็ จะต้องโปรดปราน Toyota Automobile Museum แห่งนี้เป็นอย่างมาก เพราะตั้งแต่ที่เปิดประตูเข้ามาก็พบกับรถสปอร์ต “Alfa Romeo 1600 Spider” เปิดประทุนสีแดงสดจอดต้อนรับผู้เยี่ยมชมอยู่ (อ่าว…!) นั่นเป็นเพราะว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งใจจะเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ยานยนต์ไม่เพียงแค่เฉพาะของโตโยต้าเท่านั้น แต่รวมไปถึงรถหลากยี่ห้อไม่ว่าจะฝั่งญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกยานยนต์นับจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง
หลังจากที่ซื้อตั๋วเสร็จเรียบร้อยแล้ว รถคันแรกที่ตั้งโชว์อย่างสง่างามอยู่บนพื้นที่ชั้น 1 นั่นก็คือ “Toyoda AA” (Replica) ซึ่งถือเป็นรถยนต์คันแรกในประวัติศาสตร์ของโตโยต้าที่ถูกผลิตขึ้นสำเร็จในปี 1936 นั่นเอง โดยสมัยนั้นรถ Toyoda AA มีราคาจำหน่ายเพียง 3,350 เยน (หากคิดตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันก็ตกราว 8 ร้อยกว่าบาทเท่านั้น) แต่เมื่อเทียบกับเงินเดือนเฉลี่ยของชาวญี่ปุ่นยุคนั้นอยู่ที่ราว 70 เยน รถคันนี้จึงมีราคาเทียบได้กับบ้านพร้อมที่ดินในสมัยนั้นเลยทีเดียว
แม้ว่า Toyoda AA จะถูกผลิตขึ้นเพื่อมุ่งหมายให้เป็นทางเลือกในการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวของชาวญี่ปุ่น และลดการนำเข้ารถยนต์จากฝั่งยุโรปและอเมริกา แต่ก็ใช่ว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะสามารถเข้าถึงได้ รถรุ่นนี้จึงถูกนิยมใช้เป็นรถของราชการ และรถรับจ้างสาธารณะเสียมากกว่า
เมื่อขึ้นไปยังชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์ก็จะพบกับรถยนต์ยุคก่อนปี 1950 หลากหลายยี่ห้อ นำขบวนโดย Benz Patent-Motorwagen (Replica) ซึ่งถือเป็นรถยนต์ขับเคลื่อนโดยเครื่องยนต์สันดาปภายในคันแรกของโลกจากเยอรมนี ขณะที่พื้นที่ชั้น 2 ยังมีการจัดแสดงรถโบราณหายากอีกมากมาย เช่น Lanchester, Stanley Streamer Model E2, Rolls-Royce 40/50 Silver Ghost รวมถึง Toyoda AA ตัวถังสีน้ำตาล
ขยับขึ้นมาชั้น 3 ก็จะเป็นรถยนต์หลังยุคปี 1950 ขึ้นมา โดยจะถูกต้อนรับด้วย “Toyopet Crown Model RS” รุ่นปี 1955 ซึ่งถือเป็นรถรุ่นแรกที่โตโยต้าผลิตขึ้นแบบ In-house โดยไม่ได้พึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงความก้าวล้ำทางด้านเทคโนโลยีและองค์ความรู้ของโตโยต้าในการผลิตรถยนต์เป็นของตัวเอง
ในพื้นที่ชั้น 3 จะประกอบไปด้วยรถยนต์ที่หลายคนเริ่มคุ้นตา หลายคันเคยเห็นเฉพาะในรูป แต่ไม่เคยเห็นตัวจริง เช่น Citroen 2CV Type A รุ่นปี 1953, Chevrolet Corvair รุ่นปี 1960 รวมถึงรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นคุ้นชื่อ เช่น Datsun Sunny และ Toyota Corolla KE10 รุ่นปี 1966, Suzuki Fronte 360 รุ่นปี 1967 และ Honda N360 รุ่นปี 1969 เป็นต้น
แต่สำหรับผู้เขียนเองที่คลุกคลีกับรถยนต์ในยุค 90 มาตั้งแต่เด็ก การได้เห็นรถยุค 80 และ 90 ที่ยังคงอยู่ในสภาพดี เป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็น Toyota Corolla Levin หรือที่รู้จักกันในชื่อ AE86 รุ่นปี 1983 ที่มีสภาพราวกับเพิ่งออกมาจากโรงงาน, Toyota Hilux Surf รุ่น 3 ประตู ที่หาบนท้องถนนได้ยากยิ่ง หรือแม้กระทั่งค่ายยุโรปอย่าง Audi Quattro รุ่นปี 1981 สุดแสนคลาสสิกก็มีให้ชมที่นี่ด้วยเช่นกัน
หากเดินข้ามไปอีกฝั่งของตัวอาคารจะพบกับโซน Automobile Cultural Showroom ที่รวบรวมชิ้นงานเกี่ยวกับรถยนต์มากกว่า 4,000 ชิ้น (จากจำนวนทั้งหมดกว่า 2 แสนชิ้น) ไม่ว่าจะเป็นโปสเตอร์โฆษณาตั้งแต่ยุคอดีต, รถยนต์ของเล่นคันจิ๋ว หรือกระทั่งตราสัญลักษณ์ของรถยนต์รุ่นต่างๆ ก็ถูกนำมาจัดแสดงให้ได้ชมกันอย่างใกล้ชิด
เอาเป็นว่าถ้าใครมีหัวใจชื่นชอบรถยนต์อยู่แล้วล่ะก็ การได้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ Toyota Automobile Museum แห่งนี้ จะต้องได้ความประทับใจกลับไปอย่างแน่นอน
Toyota Kaikan Museum ชมเทคโนโลยีล่าสุดของโตโยต้า
ที่ตั้ง: 1 Toyota-cho, Toyota City, จังหวัดไอจิ 471-8571
เวลาเปิด-ปิด: ทุกวัน 9.30 – 17.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์ และวันหยุดนักขัดฤกษ์)
ค่าเข้าชม: ฟรี
มาถึงพิพิธภัณฑ์แห่งที่ 2 กันบ้าง ที่นี่คือ Toyota Kaikan Museum ซึ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาแวะชมได้เช่นกัน แม้ว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะตั้งอยู่ไกลจากนาโกย่าออกมาอีกหน่อย (นั่งรถไฟประมาณ 1.30 ชั่วโมง จากสถานีรถไฟนาโกยา) แต่ข้อดีของที่นี่คือ “ค่าเข้าฟรี” แถมถ้าขับรถมาก็ยังจอดรถฟรีอีกต่างหาก (สามารถรองรับรถส่วนตัวได้ประมาณ 800 คัน)
จาก Toyota Automobile Museum ที่รวบรวมรถยนต์หลากหลายยี่ห้อให้ได้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด มาคราวนี้จะเริ่มเจาะลึกเฉพาะแบรนด์ Toyota กันบ้าง โดยพิพิธภัณฑ์ Toyota Kaikan แห่งนี้ได้รวบรวมแนวคิดการพัฒนารถยนต์ของโตโยต้าในปัจจุบัน ตลอดจนกระบวนการผลิตรถยนต์กว่าที่จะออกมาเป็นรถหนึ่งคัน รวมถึงการจัดแสดงรถยนต์ Toyota และ Lexus รุ่นล่าสุดที่กำลังวางจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจะถูกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่ตลอดเมื่อมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เพิ่มขึ้นมา
เริ่มต้นกันที่โซน “Eco and Emotion” ซึ่งจัดแสดงเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเทคโนโลยีไฮบริดที่โตโยต้าถือเป็นผู้นำตลาดโลกมาอย่างยาวนาน ทั้ง Toyota Prius และ Prius PHEV รุ่นใหม่ล่าสุด และการผ่าตัวรถเพื่อแสดงโครงสร้างของระบบไฮบริดและฟิวเซล เพื่อแสดงให้เห็นถึงความก้าวล้ำของโตโยต้าในการพัฒนาเทคโนโลยีรักษ์โลก ควบคู่ไปกับแนวคิดการพัฒนารถยนต์ที่มีความทนทานได้อย่างลงตัว
ต่อมาในโซน “Safety and Freedom” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโตโยต้าไม่เพียงแต่มุ่งเน้นพัฒนารถยนต์ที่ทันสมัยและมีความทนทานสูงเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้งานด้วยเช่นกัน โดยตัวรถที่ถูกผ่าครึ่งนี้แสดงให้เห็นถึงการเลือกสรรวัสดุต่างๆ เพื่อให้ตัวรถมีความปลอดภัยจากการชนมากที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังคงไว้ซึ่งน้ำหนักเบา เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีราคาที่เข้าถึงได้ง่าย
ต่อมาจะเป็นโซนที่เรียกว่า “Production and Creation” ที่จำลองเอาบรรยากาศจากโรงงานประกอบรถยนต์ของโตโยต้ามาไว้ที่แห่งนี้ โดยสามารถรับชมการทำงานของเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ เช่นเดียวกับที่พบในโรงงาน เหมาะสำหรับคุณน้องๆ หนูๆ ที่จะได้สัมผัสผลงานด้านวิศวกรรมของโตโยต้าอย่างใกล้ชิด รวมถึงศึกษากลยุทธ์ “Just-in-time” หรือระบบการผลิตของโตโยต้าที่โด่งดังไปทั่วโลก ซึ่งเป็นการผลิตของที่ใช่ ในปริมาณที่ใช่ และส่งมอบในเวลาที่ต้องการ เพื่อลดปัญหาการเกิดของเสียที่ไม่ได้ใช้งานให้น้อยที่สุด
ส่วนโซนสุดท้ายจะเป็นโซนที่จัดแสดงรถยนต์รุ่นล่าสุดของ Toyota และ Lexus เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น Toyota Alphard รุ่นใหม่ล่าสุด, Toyota Corolla Cross เวอร์ชันญี่ปุ่น, Toyota Land Cruiser 70 Series หรือแม้กระทั่ง Toyota Century ซึ่งถือเป็นรถยนต์ระดับตำนานของโตโยต้าที่บัดนี้ถูกกลายร่างเป็นรถอเนกประสงค์สุดหรูเรียบร้อยแล้ว เอาเป็นว่าถูกใจคันไหนจะเปิดประตูชมห้องโดยสารภายในก็ทำได้เลย
นอกจากนี้ ในพื้นที่โชว์รูมยังมีการจัดแสดงรถยนต์ Welcab ที่โตโยต้าพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานของผู้สูงอายุและทุพพลภาพอีกด้วย โดยคันที่นำมาโชว์เป็นรุ่น Voxy ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อผู้ที่มีปัญหาด้านการเดิน โดยเบาะนั่งผู้โดยสารตอนหน้าสามารถหมุนได้ 90 องศา และยกตัวออกมาจากห้องโดยสาร เพื่อเพิ่มความสะดวกในการขึ้น-ลง รวมถึงพื้นที่ด้านท้ายที่สามารถรองรับวีลแชร์ได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยทางลาดแบบไฟฟ้า และจุดยึดวีลแชร์ภายในห้องโดยสารที่ช่วยให้ผู้สูงอายุหรือผู้พิการสามารถเป็นอิสระกับการเดินทางได้ไม่แพ้ผู้ที่มีร่างกายปกติเลย
ว่าไปแล้วถ้าหากโตโยต้านำรถ Welcab มาทำตลาดในประเทศไทยบ้างก็คงจะดีไม่น้อยเหมือนกัน ตอบรับการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปเสียเลย เชื่อว่าน่าจะมีหลายครอบครัวพร้อมควักกระเป๋าเพื่อแลกกับความสะดวกในการเดินทางของคนในครอบครัวอยู่ไม่น้อยทีเดียว
เจาะลึก “เครื่องทอผ้า” สู่ “ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก” ที่ Toyota Commemorative Museum
ที่ตั้ง: 1-35, Noritake Shinmachi 4-chome, Nishi-ku, นาโกยา 451-0051
เวลาเปิด-ปิด: ทุกวัน 9.30 – 17.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์ และวันหยุดนักขัดฤกษ์)
ค่าเข้าชม: บุคคลทั่วไป 1,000 เยน (มีส่วนลดสำหรับผู้สูงอายุและนักเรียน) *ค่าเข้าชมดังกล่าวเป็นราคาใหม่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 67
มาถึงพิพิธภัณฑ์แห่งสุดท้ายที่เราจะมาแนะนำในบทความนี้ นั่นก็คือ Toyota Commemorative Museum of Industry and Technology (ยาวจนนึกว่าเป็นชื่อกระทรวงรัฐบาลกันเลย!) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองนาโกยา สามารถเดินทางมาได้อย่างสะดวก อีกทั้งในแง่ของสถานที่ยังถือว่ามีความสำคัญกับโตโยต้ามาก เนื่องจากที่ดินที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ตั้งอยู่ ถือเป็นที่ดินผืนแรกที่ “มร.ซากิจิ โตโยดะ” (Sakichi Toyoda) ผู้ก่อตั้ง “โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน” ได้ก่อตั้งโรงงานผลิตเครื่องทอผ้าขึ้นก่อนที่จะกลายมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์ระดับโลกในปัจจุบัน
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจไม่ทราบมาก่อนว่า ก่อนที่โตโยต้าจะกลายมาเป็นแบรนด์รถยนต์ที่วางจำหน่ายไปทั่วโลกนั้น โตโยต้าได้เริ่มเข้าสู่โลกธุรกิจด้วย “เครื่องทอผ้า” มาก่อน เมื่อเดินเข้ามายังตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ก็จะพบกับ Circular Loom หรือเครื่องทอผ้าทรงกลมขนาดใหญ่ยักษ์เกือบจะเท่ากับตึกสองชั้นที่ถูกคิดค้นมาตั้งแต่ปี 1906 (เครื่องที่นำมาจัดแสดงถูกผลิตขึ้นในปี 1924 และเป็นเพียงเครื่องเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่) ถือเป็นความน่าทึ่งทางด้านวิศวกรรมเมื่อเทียบว่ามันถูกคิดค้นขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว
ขยับมาในโซนด้านในก็จะพบกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการสิ่งทอ เริ่มตั้งแต่การนำเข้าฝ้ายจากอินเดียเข้ามายังญี่ปุ่น จนกระทั่งการคิดค้นเครื่องทอผ้าอัตโนมัติ Toyota Type G Automatic Loom ได้เป็นผลสำเร็จ ก่อนจะถูกผลิตเพื่อวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 1925 เป็นต้นมา
ภายในพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตรแห่งนี้ มีจุดไฮไลต์สำคัญคือเทคโนโลยีการปั่นฝ้าย ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทอผ้า แต่กว่าที่จะสามารถผลิตเครื่องมือสำหรับการปั่นฝ้ายให้มีคุณภาพสูงมากพอที่จะใช้เป็นวัตถุดิบได้นั้น ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วมากมาย แถมยังต้องคิดค้นนวัตกรรมเพื่อให้การผลิตเส้นด้ายทำได้อย่างรวดเร็วมากพอที่จะใช้ในระดับอุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการลดจุดบกพร่องให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยพื้นที่แห่งนี้จัดแสดงเครื่องจักรสำหรับใช้ในการปั่นฝ้ายและทอผ้าของโตโยดะมากกว่า 90 เครื่องเลยทีเดียว
จุดกำเนิดด้านธุรกิจรถยนต์ของโตโยต้า เกิดจาก มร.คิอิจิโระ โทโยดะ (Kiichiro Toyoda) บุตรชายของ ซากิจิ โตโยดะ ได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรปในปี 1921 เพื่อศึกษาอุตสาหกรรมทอผ้าในต่างประเทศ ซึ่งการได้พบเห็นรถยนต์จำนวนมากวิ่งอยู่บนท้องถนน ทำให้คิอิจิโระรู้สึกว่าประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้นช่างล้าหลังเสียเหลือเกิน จากนั้นในปี 1923 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เรียกว่า Great Kanto Earthquake ในกรุงโตเกียว สร้างความเสียหายอย่างหนักกับเส้นทางรถไฟจนทำให้การเดินทางเป็นอัมพาต
จากนั้นญี่ปุ่นได้มีการนำเข้ารถยนต์จากสหรัฐอเมริกาจำนวน 800 คัน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นหันมาสนใจรถยนต์มากขึ้น กระทั่งมีการก่อสร้างโรงงานประกอบรถยนต์ของ Ford และ GM ในปี 1925 และ 1927 ซึ่งคิอิจิโระเกิดความกังวลว่าญี่ปุ่นจะถูกผูกขาดด้านอุตสาหกรรมยานยนต์จากฝั่งตะวันตก
ในปี 1929 เขาได้เดินทางไปยังยุโรปอีกครั้งเพื่อขายลิขสิทธิ์เครื่องทอผ้าอัตโนมัติ Type G ให้แก่ Platt & Brothers & Co. ในสหราชอาณาจักร พร้อมกับนำเครื่องยนต์ Smith Motor Wheel ที่ใช้ติดตั้งเข้ากับจักรยานเพื่อให้เคลื่อนที่ได้โดยไม่จำเป็นต้องปั่น ซึ่งเครื่องยนต์ที่ว่านี้หากติดตั้งเข้ากับจักรยานแล้ว จะช่วยให้สามารถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยความเร็วสูงถึง 48 กม./ชม. โดยเขาได้มีการศึกษาเครื่องยนต์ดังกล่าวอย่างแข็งขัน ประกอบกับปณิธานที่ตั้งมั่นในการเป็นผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น ในปี 1933 จึงได้มีการก่อตั้งแผนกยานยนต์ภายในโรงงานขึ้นมา
สมัยนั้นญี่ปุ่นยังไม่มีองค์ความรู้ในด้านการผลิตรถยนต์ จึงมีการซื้อรถยนต์ Chevrolet มาศึกษาวิจัย ด้วยการถอดและประกอบซ้ำไปซ้ำมา รวมถึงมีการวิจัยค้นคว้าในส่วนอื่นๆ ควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะวัสดุเหล็กซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักกว่า 80% ในรถยนต์ โดยสมัยนั้นญี่ปุ่นยังไม่มีบริษัทใดที่สามารถป้อนเหล็กที่มีคุณภาพสูงมากพอที่จะใช้สำหรับรถยนต์ได้ ก่อให้เกิดแผนกเหล็กในปี 1934 ซึ่งปัจจุบันคือ Aichi Steel Corporation ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโตโยต้าปัจจุบันนั่นเอง
แน่นอนว่าผลพวงจากการค้นคว้าและทุ่มเทอย่างหนัก ได้ก่อให้เกิดเป็น “Toyoda AA” ซึ่งถือเป็นรถคันแรกของโตโยต้าที่เรานำเสนอไปตั้งแต่ตอนต้น จากนั้นก็ได้มีการพัฒนารถกระบะคันแรกชื่อว่า “Toyoda G1” ที่กลายเป็นรูปเป็นร่างโดยสมบูรณ์ในปี 1935 สามารถรองรับน้ำหนักบรรทุกได้ 1.5 ตัน เรียกว่าเป็นต้นกำเนิดรถเพื่อการพาณิชย์ทั้งรถกระบะและรถบรรทุกมาจวบจนถึงปัจจุบัน
ภายในพิพิธภัณฑ์ Toyota Commemorative Museum แห่งนี้ยังมีการจำลองโรงงานผลิตรถยนต์ของโตโยต้า โดยนำเอาเครื่องจักรที่เคยใช้ในโรงงานจริงมาจัดแสดง และจำลองการทำงานให้ชมกันอย่างใกล้ชิด แม้กระทั่งเครื่องจักรสำหรับใช้ในการพ่นสีรถยนต์ก็มีให้ชมด้วยเช่นกัน อย่างรูปภาพที่อยู่ด้านล่างนี้พอจะเดากันได้ไหมเอ่ยว่าเป็นรถรุ่นอะไร?
เป็นอย่างไรบ้างสำหรับพิพิธภัณฑ์โตโยต้าทั้ง 3 แห่งที่เรานำมาฝากในครั้งนี้ หากใครเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะแถบนาโกยาแล้วล่ะก็ ลองเปลี่ยนบรรยากาศไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นอย่างโตโยต้า รับรองว่าจะกลายเป็นประสบการณ์น่าประทับใจที่เพื่อนๆ ของคุณจะต้องอิจฉาอย่างแน่นอนครับ
เครดิต www.sanook.com
การขันน็อตข้อก้าน 4JA1 และ การติดตั้งเข็มฉีดน้ำมัน GZL | แกะกล่อง DIY