ค่ายรถญี่ปุ่นสะเทือน-ใช้อลูมิเนียมเกรดต่ำผลิตรถนานร่วมปี
กลายเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น หลังจากโกเบ สตีล บริษัทผลิตโลหะอันดับ 3 ของแดนอาทิตย์อุทัย ออกมายอมรับว่ามีการปลอมแปลงข้อมูลคุณภาพการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ทำให้มีการส่งมอบอลูมิเนียม และทองแดงที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานมากกว่า 40,000 ตัน ให้ลูกค้าราว 200 บริษัท รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำทั้งโตโยต้า, ฮอนด้า, มาสด้า, ซูบารุ และซูซูกิ
หลังจากนาโอโตะ อูเมฮาระ รองประธานบริหารโกเบ สตีล ออกมาเปิดเผยความจริงพร้อมแสดงการขอโทษก้มหัวต่อหน้าสื่อมวลชน ในการแถลงข่าวที่กรุงโตเกียว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา สร้างความวิตกกังวลให้วงการอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น ด้วยการที่ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม และทองแดง ที่ไม่ได้มาตรฐานถูกส่งให้ทั้งบริษัทรถยนต์, มิตซูบิชิ รีเจอนอล เจ็ต บริษัทผลิตเครื่องบินในเครือมิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรีส์, ชิ้นส่วนเครื่องบินโดยสารของโบอิ้ง ดรีมไลเนอร์ และรถไฟชินคันเซ็นที่ให้บริการในพื้นที่โตไก
ในปัจจุบันอลูมิเนียมเป็นวัสดุสำคัญในการผลิตโครงสร้างตัวถังรถยนต์, ชิ้นส่วนเครื่องบิน และรถไฟความเร็วสูงจากการที่มีน้ำหนักเบาทำให้ช่วยลดอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง โดยในการแถลงข่าวระบุเพียงว่าผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานแบ่งเป็นอลูมิเนียม Flat Rolled และ Extrusions จำนวน 19,300 ตัน, อลูมิเนียมขึ้นรูปหล่อ Castings และ Forgings 19,400 ตัน และทองแดง 2,200 ตัน ถูกส่งมอบให้ลูกค้าของโกเบ สตีล ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2016-31 สิงหาคม 2017
หลังจากมีข่าวออกมา โตโยต้า ในฐานะผู้ผลิตรถยนต์หมายเลขหนึ่งของญี่ปุ่น รีบออกมาชี้แจ้งว่าอลูมิเนียมที่ซื้อจากโกเบ สตีล ถูกนำมาใช้เพื่อผลิตฝากระโปรงหน้า, ประตู และอุปกรณ์เสริม โดยทากาชิ โอกาวะ โฆษกของพวกเขาระบุว่า “เรากำลังทำงานอย่างหนักเพื่อระบุว่ารถยนต์รุ่นใดที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตครั้งนี้ และถูกนำไปใช้ในส่วนประกอบใดบ้าง เราตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการฝ่าฝืนหลักปฏิบัติตามหลักการในส่วนของผู้จัดหาวัตถุดิบในการผลิตว่าเป็นปัญหาที่ร้ายแรง”
เช่นเดียวกับ ฮอนด้า ออกมายืนยันว่าพวกเขาใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานของโกเบ สตีล ในการผลิตฝากระโปรงหน้า และประตูรถยนต์ ขณะที่มาสด้า, ซูซูกิ มอเตอร์, มิตซูบิชิ มอเตอร์ส เตรียมตรวจสอบคุณภาพของรถยนต์ของพวกเขาที่ผลิตในช่วงระยะเวลาดังกล่าวว่ามีผลต่อความปลอดภัยหรือไม่
ทางด้านซูบารุ เปิดเผยว่าอลูมิเนียมที่พวกเขาซื้อจากโกเบ สตีล ไม่เพียงจะใช้เพื่อผลิตรถยนต์เท่านั้น แต่นำไปผลิตเครื่องบินฝึกหัดของกองกำลังป้องกันตนเองญี่ปุ่น และชิ้นส่วนปีกของเครื่องบินโบอิ้ง ดรีมไลเนอร์
ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้เป็นจำนวน 4 เปอร์เซ็นต์จากอลูมิเนียม และทองแดงที่โกเบ สตีล ผลิตขายในรอบปี คิดเป็นมูลค่าราว 1.2 พันล้านเยน หรือราว 3.5 พันล้านบาท โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิเศษ และตัวแทนจากสำนักงานกฎหมายเข้ามาตรวจสอบจากการเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่บริษัทเกินกว่า 10 คน รวมถึงผู้อยู่ในตำแหน่งบริหารมีส่วนเกี่ยวข้องในความผิดพลาดครั้งนี้
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างเลวร้าย” ทากาชิ ไอริซาวะ นักวิเคราะห์จากบริษัททาชิบานะ ซีเคียวริตี้ส์ แสดงความเห็นกับหนังสือพิมพ์อาซาฮี ชิมบุน “ในเวลานี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะยังไม่ชัดเจน แต่หากนำไปสู่การเรียกคืนสินค้าเพื่อตรวจสอบแก้ไข มูลค่าความเสียหายจะเพิ่มขึ้นมหาศาล มีความเป็นไปได้ที่บริษัทต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเรียกคืน รวมทั้งการผลิตวัสดุใหม่เพื่อทดแทน”
ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นยังทำให้เกิดคำถามถึงคุณภาพของสินค้าที่ปั๊มตรา “Made in Japan” ในอนาคต หลังจากเมื่อสัปดาห์ก่อนนิสสัน มอเตอร์ ออกมาประกาศเรียกคืนรถยนต์มากกว่า 1 ล้านคันที่ขายในญี่ปุ่น หลังจากมีความผิดพลาดในการตรวจสอบขั้นสุดท้าย, มีปัญหาเรื่องถุงลมนิรภัยของบริษัททากาตะ ที่ต้องจ่ายค่าชดเชยเฉพาะในประเทศสหรัฐฯ 1,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ (ราว 3.3 หมื่นล้านบาท) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และโตโย ไทร์ แอนด์ รับเบอร์ บริษัทผลิตยางรถยนต์ยอมรับเจ้าหน้าที่ว่ามีการแก้ไขข้อมูลของเครื่องรองรับแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวที่ติดตั้งในอาคารหลายแห่ง เมื่อปี 2015
เครดิต www.grandprix.co.th